พิธีรับโล่พระราชทานรางวัลวรรณกรรม “วรรณศิลป์อุชเชนี” ครั้งที่ 5

0
1722

ในวันพุธที่ 12 มกราคม 2565 เวลา 13.30-15.30 น. ที่ผ่านมา พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานในพิธีรับโล่พระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลวรรณกรรม “วรรณศิลป์อุชเชนี” ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “หนึ่งชีวิตคำนึง” ณ ห้องอโนมาแกรนด์ ชั้น 3 โรงแรมอโนมาแกรนด์ ถนนราชดำริ กรุงเทพมหานคร

จัดโดยสื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย ร่วมกับสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย โดยมีคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการประกวดวรรณกรรมรางวัล “วรรณศิลป์อุชเชนี” และประธานจัดงาน เพื่อรำลึกถึงผลงานอันทรงคุณค่า ของอาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2536 ที่สร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้รักงานวรรณศิลป์ และส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน การเขียนภาษาไทย และเพื่อเปิดเวทีให้แก่ผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชน ในการพัฒนาทักษะด้านการเขียนในเชิงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น เพื่อร่วมกันสืบสานมรดกอันล้ำค่าด้านภาษาไทย มีคุณศศิเลิศ สุวังคำ ผู้อำนวยการกลุ่มศิลปกรรม กองส่งเสริมและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม, พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี, อาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, อาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง, พ.ต.ปานสรวง ชุมสาย ณ อยุธยา, คุณพ่ออนุชา ไชยเดช, คุณพ่อเอกรัตน์ หอมประทุม, คุณพิบูลศักดิ์ ละครพล, เซอร์มารี หลุยส์ พรฤกษ์งาม, คุณวันทนีย์ นามะสนธิ และคณะกรรมการ ร่วมงาน

ผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ
รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยเกียรติบัตร และเงิน 30,000 บาท ส่วนรางวัล
รองชนะเลิศ ได้รับเกียรติบัตร และเงิน 10,000 บาท โดยคัดสรรพิจารณาผลงานที่มีเนื้อหาและลักษณะตามเกณฑ์ที่กำหนด จากผลงานเขียนที่ส่งเข้าประกวดทั่วประเทศ เพื่อพิจารณาตัดสินมอบรางวัลแก่นักเขียนที่มีคุณภาพดี โดยแบ่งงานเขียนเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทกลอนสุภาพ ระดับนักเรียนและระดับประชาชน ประเภทความเรียง ระดับนักเรียนและระดับประชาชน

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล กล่าวรายงานการจัดงานผ่านทางเสียง ความว่า “รางวัลวรรณศิลป์
อุชเชนี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดเวทีให้แก่ผู้สนใจทั่วไป โดยเฉพาะเยาวชนในการพัฒนาทักษะด้านการเขียนในเชิงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นเพื่อร่วมกันสืบสานมรดกอันล้ำค่าด้านภาษาไทยและเพื่อรำลึกถึงผลงานอันทรงคุณค่าของอุชเชนี ซึ่งเป็นนามปากกาของท่านอาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์กวีนิพนธ์ พ.ศ. 2536 โดยในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 807 ผลงาน จากทั่วประเทศ เป็นกลอนสุภาพ 385 ผลงาน และความเรียง 422 ผลงาน”

พลอากาศเอก ชลิต เปิดกรวยดอกไม้และกล่าวเปิดงาน ว่ารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาเป็นประธานในพิธีรับโล่พระราชทานรางวัลวรรณศิลป์อุชเชนี ครั้งที่ 5 “อุชเชนีหรืออาจารย์ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยาเป็นเพชรเม็ดงามในแวดวงวรรณศิลป์ของแผ่นดินไทย อุชเชนีดำเนินชีวิตด้วยปรีชาญาณ ความรัก ความศรัทธา ส่งผลให้งานของท่านเสริมสร้างอุดมการณ์ที่ดีงาม ให้แรงบันดาลใจแก่เพื่อนมนุษย์ซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติตนได้อย่างเรียบง่าย เปี่ยมไปด้วยความสุขและคุณค่าแห่งชีวิต ต้องขอขอบคุณผู้จัดงานที่ได้ร่วมกันดำเนินโครงการด้วยอุดมการณ์อย่างต่อเนื่อง”

อาจารย์เนาวรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2536 ประธานกรรมการประเภทกลอนสุภาพ กล่าวสรุปภาพรวมการประกวดว่าในปีนี้มีผลงานที่เข้มข้นอาจจะเป็นเพราะโควิดทำให้มีเวลานั่งคิดนานขึ้น ที่จริงแล้วหัวข้อตลอดมาทั้ง 5 ปีนั้นมีความสำคัญเพราะเกี่ยวเนื่องกับผลงานของอาจารย์ประคิณหรืออุชเชนี กวีของกวีที่เรารักใช้คำว่ากวีของกวีเพราะหลายท่านที่รักการเขียนกาพย์กลอนต้องยอมรับว่างานของ อุชเชนีมีอิทธิพลมาก ๆ ปีนี้ก็เช่นกัน และคิดว่าจะมีทุกๆ ปี เพราะว่างานของอุชเชนีเป็นงานอมตะ เป็นหมุดหมายของกวี เส้นทางกวีไทยตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันและในอนาคต

ปีนี้บทกลอนสุภาพระดับนักเรียนและประชาชนที่ส่งเข้ามามีจำนวนมากถึง 385 สำนวน เป็นระดับนักเรียน 89 สำนวน ระดับประชาชน 296 สำนวน อาจารย์ชมัยภร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2557 ประธานกรรมการประเภทความเรียง กล่าวสรุปภาพรวมการประกวดว่า อาจเพราะว่าหัวข้อ “หนึ่งชีวิตคำนึง” เป็นหัวข้อสำหรับการประกวดที่สามารถตีความได้กว้างหรือสามารถโยงเข้าสู่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ชีวิตได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมาก เพราะฉะนั้นผลงานที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้จึงมีมิติชีวิตที่ลึกซึ้งกว้างขวางมากและมีความน่าสนใจ ประการแรกคือมีการให้นิยามหรือความหมายของชีวิตเป็นการแสดงในเชิงนามธรรม แสดงความพอดีหรือความไม่พอดีของชีวิต แสดงภาพรวมของชีวิต ในขณะเดียวกันก็ยังมีงานอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจมากคืองานที่แสดงความศรัทธาในศาสนาเพื่อที่จะแก้ปัญหาชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ในปีนี้คุณภาพ ความลึกซึ้ง และความสะท้านสะเทือนใจของงานอยู่ในระดับที่ดีมากๆ เพราะฉะนั้นท่านก็จะได้รับฟังว่าความสะท้านสะเทือนใจของรางวัลอุชเชนีปีนี้เป็นอย่างไร
ปีนี้มีผู้ส่งความเรียงเข้ามาทั้งหมด 422 ชิ้น เป็นนักเรียน 84 ชิ้น ประชาชน 338 ชิ้น

ผลการตัดสิน
ประเภทกลอนสุภาพ ระดับนักเรียน
รางวัลชนะเลิศ ผลงาน “ในห้วงคำนึง”โดยศรินยานันท์ จันทร์รุ่ง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ รัชดา
รางวัลรองชนะเลิศ ผลงาน “ชีวิตของลูกยางนา” โดยวริศ ดาราฉาย โรงเรียนเตรียมอุดม
ศึกษาพัฒนาการ สุวรรณภูมิ และผลงาน “บทคำนึงเหนือภูขยะ” โดยฮีดายะห์ เบ็ญโกบ โรงเรียนสามัคคีอิสลามวิทยา อ.ควนกาหลง จ.สตูล

ประเภทกลอนสุภาพ ระดับประชาชน
รางวัลชนะเลิศ ผลงาน “ห้วงคำนึงของนักแล่นเรือใบ (ขณะผ่านไปในพิพิธภัณฑ์ร้างกลางชีวิต)” โดยพจนาถ พจนาพิทักษ์
รางวัลรองชนะเลิศ “กลิ่นเข็มในอกแม่” โดยวิศิษฐ์ ปรียานนท์ และผลงาน “แม่น้ำแห่งชีวิต” โดยจามรี ตันไพฑูรย์ดิถี

ประเภทความเรียง ระดับนักเรียน
รางวัลชนะเลิศ ผลงาน “คำนึงอันนิรันดร์” โดยฮีดายะห์ เบ็ญโกบ โรงเรียนสามัคคีอิสลามวิทยา อ.ควนกาหลง จ.สตูล
รางวัลรองชนะเลิศ ผลงาน “ลูกเป็ดขี้เหร่” โดยธนพร โชคศรีเจริญ โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และผลงาน “รถล้อเข็น” โดยแต๋น โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

ประเภทความเรียง ระดับประชาชน
รางวัลชนะเลิศ ผลงาน “เด็กชายผู้หยุดความสูงไว้ที่ระดับหัวใจ” โดยศรัทธา สถาพร
รางวัลรองชนะเลิศ ผลงาน “14 วัน 3 ปี ตลอดไป” โดยกิตติศักดิ์ คงคา และผลงาน “ก่อน
อัลไซเมอร์มาเยือน (ถ้อยคำนึงสุดท้ายของชายอายุแปดสิบ)” โดยพิณพิพัฒน ศรีทวี

เออเชนี ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา หรือ“อุชเชนี” เกิดวันที่ 6 กันยายน 2462 สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ระดับอุดมศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้รับทุนไปศึกษาต่อทางวรรณกรรมที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และกลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเป็นนักประพันธ์ไม่ว่าจะเป็นกวีนิพนธ์ เช่น “ขอบฟ้าขลิบทอง” “ดาวผ่องนภาดิน” ในนามปากกา “อุชเชนี” หรือความเรียงร้อยแก้ว “เพียงแค่เม็ดทราย” ในนามปากกา “นิด นรารักษ์” สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศเกียรติคุณยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) พร้อมกับอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในปี พ.ศ. 2536 อาจารย์ประคิณ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559