ความรู้อันชัดเจนเรื่องความตาย โดย ชมัยภร แสงกระจ่าง

0
5353

ข้าพเจ้าเคยเข้ารับการอบรมเรื่อง “วิถีสู่ความตายอย่างสงบ” โดยพระไพศาล วิสาโลและคณะ มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อมกราคม พ.ศ ๒๕๕๕ ซึ่งครั้งนั้นกำหนดจัดขึ้นที่บ้านน้ำสาน ของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.แม่แรม อ.แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นการอบรมที่เปิดโลกความเข้าใจชีวิตและความตายกว้างขวางออกไปอย่างมหาศาลจนข้าพเจ้าได้นวนิยายมา ๑ เรื่องคือ ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล ซึ่งว่าด้วยความตายและคนที่อยู่ข้างหลัง


ดังนั้น เมื่อบริษัทชีวามิตร ก่อตั้งโดยคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ร่วมมือกับ สสส. ร่วมกันจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจคุณภาพชีวิตในบั้นปลาย รวมทั้งการรับมือกับผู้ป่วยในระดับประคับประคอง ข้าพเจ้าจึงยินดีเข้ารับการอบรมดังกล่าว การอบรมนี้มุ่งอบรมบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนในสังคม เช่น นักแสดง นักสร้างภาพยนตร์ คนทำละคร ผู้กำกับ นักเขียน นักคิด นักร้อง นักจัดรายการ ฯลฯ โดยหวังจะให้คนเหล่านี้มีความเข้าใจชีวิตชัดเจนและจะได้นำไปถ่ายทอดหรือเผยแพร่ให้คนอื่น ๆ ได้ในวงกว้าง วันที่ข้าพเจ้าได้รับการกำหนดให้เข้ารับการอบรมที่สำนักงานของ ส.ส.ส. เป็นวันพิสูจน์ชีวิตจริง ๆ เพราะเป็นต้นเดือนมกราคม (๑๐ มกราคม) ซึ่งควรจะเป็นวันที่มีอากาศหนาวเย็นเล็กน้อยพอหอมปากหอมคอ แถมลมโชยอ่อน ๆ เพื่อเป็นกำลังใจก่อนการอบรม แต่ปรากฏว่า การณ์กลับตาละปัตร ฝนตกกระหน่ำทั้งคืนก่อนจะเข้าสู่เช้าอย่างฉ่ำแฉะ และฝนยังคงตกโปรยตลอดเวลา คนอบรมซึ่งก็รับจำนวนน้อยไม่ถึง ๒๐ คนอยู่แล้วเพื่อสะดวกต่อการทำเวิร์คช้อป กลับกลายเป็นเหลือกันเพียงสิบคนได้ แต่ก็น่าชื่นใจเมื่อข้าพเจ้าเข้าไปก็พบคุณอุ๋ย นนทรีย์ นิมิบุตร กับเช็ค คน ค้น คน นั่งขัดสมาธิตัวตรงแหนวอยู่แล้ว ข้าพเจ้าก็เลยเชื่อว่าอย่างไรเสียเราก็คงจะได้เห็นรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้สักเรื่องสิน่ะ ส่วนคนที่ทำให้ข้าพเจ้าอุ่นใจเพราะฝนตกฟ้าร้องอย่างไรก็มานั่งอยู่ข้าง ๆคือคุณวันทนีย์ นามะสนธิ ผู้ช่วยผู้จัดการของบริษัทซีพีออลล์ จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นนักบริหารที่ทำกิจกรรมซีเอสอาร์ของซีพีออลล์มานับไม่ถ้วน การได้คนแบบนี้มาฟังนับเป็นประโยชน์ยิ่ง


กิจกรรมเริ่มด้วยการฉายหนังเกี่ยวกับคนป่วยระยะสุดท้ายจากเมืองนอกให้ดู ชัดเจนบ้างไม่ชัดเจนบ้างทั้งคำและภาพ แต่ก็สะเทือนใจใอเห็นภาพทุกข์ระทมของมนุษย์ นับเป็นการปูพื้นที่ดี ข้าพเจ้าฟังตั้งตึคุณพยาบาล คุณหมอฉันชาย จนถึงนักกฎหมายอย่างศาสตราจารย์แสวง ทุกคนมาเล่าเรื่องการดูแลรักษาแบบประคับประคอง และการตายจากโดยไม่ทรมาน ตอกย้ำถึงปัญหา ๓ ประการในการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย ว่าตั้งแต่ความทุกข์ทรมานทางกายและทางใจของคนไข้ เรื่องค่าใช้จ่ายที่สูง และคุณภาพชีวิตที่ลดลงทั้งฝ่ายคนไข้และญาติคนไข้ และชี้ทางด้วยว่า คุณหมอกับคนไข้หรือญาติคนไข้ต้องตกลงร่วมกัน ฝ่ายคุณหมอเล่าสนุกสนานจนคนฟังหลายคนอยากย้ายมาเป็นคนไข้ของคุณหมอ การบรรยายของคุณหมอก็ทำให้เราตระหนักถึงสิ่งที่คนไข้และแพทย์ผู้รักษาพึงมีร่วมกัน นั่นคือ ความเข้าใจอย่างชัดเจนเกี่ยวกับชีวิตชีวิตหนึ่งอย่างถ่องแท้ ทั้งผู้เป็นเจ้าของชีวิตและผู้ยื่นมือเข้ามารักษา

นอกจากนี้ในประเด็นทางกฎหมายก็มีศาสตราจารย์แสวง ซึ่งบุคลิกลักษณะเหมือนคุณหมอห้าว ๆคนหนึ่งแต่เนื้อแท้เป็นนักกฏหมายก็มาเล่าเรื่องข้อกฎหมายและการตกลงใจหากว่าชีวิตเราต้องไปอยู่ระยะสุดท้าย เป็นครั้งแรกที่ได้ยินการอ้างมาตราโน้น มาตรานี้หลายมาตรา ทำให้ตระหนักแน่ว่าทุกอย่างมีข้อกฎหมายรองรับ และผู้เป็นเจ้าของชีวิตควรรู้ก่อนจะเสียชีวิต

คำว่า “การุณยฆาต”และคำว่า “การรักษาแบบประคับประคอง”ถูกเอ่ยขึ้นหลายครั้ง มีการวาดผังความเจ็บป่วยทำให้เข้าใจคำว่า “ยื้อ” ได้ดี แต่วิทยากรก็ไม่ได้กล่าวโทษว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิด เพราะมันเป็นทั้งความเข้าใจและการตกลงร่วมกัน ทั้งที่ทำมาก่อนและเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่มีใครบอกได้ว่า ความตายของใครจะทรงคุณค่ากว่าของใคร และใครสมควรจะได้รับการยื้อชีวิต ทุกอย่างควรเป็นไปอย่างเหมาะสมกับแต่ละครอบครัว เพียงแต่ทุกคนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจร่วมกันก่อนจะเกิดวิกฤติชีวิต

ศัพท์แสงที่กระทบกระเทือนใจหลายกรณีเช่น กตัญญูหมื่นลี้ กตัญญูเฉียบพลัน ถูกหยิบยกขึ้นมา คำใหม่ ๆความรู้สึกใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น กลิ่นของความตาย เหมือนกลิ่นผลไม้สุก หรืออาการของคนใกล้ตายที่เกิด ลมสว่าน ทุกอย่างผ่านหูข้าพเจ้าไป เปรียบเทียบบ้าง สะเทือนสะท้านใจบ้าง ก็สุดแล้วแต่ประสบการณ์ภายในจะตอบรับ

“การตายไม่ใช่การสูญเสีย หากความตายเป็นหน้าที่ของสังขาร”
“การสู้กับเวทนา ไม่ต้องสู้ ตามดู รู้ทัน วางจิตอุเบกขา”
“ทุกข์มีไว้ให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็น”
“มองอารมณ์ที่กระทบจิตเหมือนงูเลื้อยผ่าน”
“จิตก่อนตาย อาจเป็นดั่งเรื่องเล่า คือเข้าไปอยู่ในเล็นที่เกาะอยู่ที่จีวรผืนใหม่ หรืออาจจะไปติดอยู่ที่ผ้าอุ่น”
“จิตสุดท้ายขึ้นอยู่กับการสะสมของจิตของแต่ละคน ทุกคนต้องฝึกเอง”

ถ้อยคำจากวิทยากรทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนเดินอยู่กลางฝนของยามเช้าวันที่ ๑๐ มกราคม อย่างจริงจัง มันเข้าไปดึงและเปิดดวงตาออกอีกครั้ง แม้จะเคยเปิดมาก่อนแล้วก็ตาม เหมือนน้ำเย็นราดหัวซ้ำ ข้าพเจ้ากลับบ้านอย่างคนตาตื่น
กลับมาอ่าน “อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข”ของชีวามิตร ก็ยิ่งตระหนัก ยิ่งบทนำนำด้วย living will หรือหนังสือแสดงเจตนาก่อนเจ็บหนักไม่ว่าจะด้วยโรคหรืออุบัติเหตุยิ่งทำให้ประจักษ์แน่ในความเป็นชีวิต ทั้งรูปทั้งเรื่องเดินทางกันเข้ามาราวห่าฝน ความจริงข้าพเจ้าตระหนักในเรื่องนี้มาแล้วเมื่อครั้งที่เขียนนวนิยายเรื่อง “บานไม่รู้โรย” เมื่อสิบปีมาแล้ว ซึ่งว่าด้วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งบทบาทสำคัญอยู่ที่ทุกข์และสุขของผู้ดูแล การได้อ่าน “อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข”อีกครั้ง เป็นการรื้อฟื้นและตอกย้ำความจริงของชีวิตที่มีกันเป็นการเฉพาะ ไม่รู้ว่าใครจะพบหรือไม่พบอะไร และชีวิตจะเป็นเช่นไร

ในรอบสี่ปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้าติดเกมลูกกวาดของผู้ใหญ่ที่ลูกเอามาให้เล่นเช่นเดียวกับเด็กติดเกม อ้างกับตัวเองแต่ว่าเล่นเพื่อให้ชีวิตผ่อนคลาย หลังการฟังวิทยากรทุกท่านในวันนั้น ข้าพเจ้ารู้แล้วว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ติดเกมเพื่อผ่อนคลาย แต่ข้าพเจ้าติดของสะสมในเกม ข้าพเจ้าติดแต้มคะแนน ซึ่งอาจทำให้จนแต้มชีวิตได้ อา นี่คือของสะสมของข้าพเจ้า จิตที่เคยหนึดติดอยู่กับเหตุผลว่าเป็นไปเพื่อผ่อนคลายความเครียด เพื่อจะได้ไม่เป็นอัลไซเมอร์ หลุดผลัวะออกมาอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่อาลัยอาวรณ์แบบครั้งก่อน ๆ ทำให้ข้าพเจ้ามองทะลุไปอีกว่า โมหะตัวนี้นี่เองที่เป็นตัวเดียวกับเรื่องชู้สาว เมื่อกำลังหลง ใครจะบอกอย่างไรก็ย่อมมีข้ออ้างเสมอเช่นข้าพเจ้าติดเกม แต่เมื่อมันหลุดออกได้ มันก็สิ้นสุดอย่างง่ายดาย

การไปอบรมความตายครั้งนี้ ข้าพเจ้าค้นพบชัดว่า จิตที่เกาะอยู่กับอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างไม่ถูกต้องเป็นอันตรายยิ่ง นอกกายนั้นคือกิเลสตัวสำคัญที่เราจะต้องสลัดมันไปได้ เพื่อจิตสุดท้ายจะทำหน้าที่ได้อย่างงดงามยามละสังขาร และแน่นอน เพื่อไม่ให้ชีวิตเราต้องเป็นปัญหาแก่ผู้อยู่ข้างหลัง เราควรทำทั้งพินัยกรรมตามกฎหมายและพินัยกรรมชีวิตของเรา(หรือหนังสือแสดงเจตนาเพื่อวาระสุดท้ายของชีวิต)ไว้ให้เรียบร้อย เพื่อเราและเขา-คนที่เรารักจะไม่ทรมานกันและกันก่อนจากกันไป